พี่หลี เจ้าของผลงาน Pharmaceutical Marketing


สวัสดีครับ พี่ๆน้องๆวงการยาและเวชภัณฑ์ทุกท่านนะครับ ก้าวเข้าสู่ Q4 กันแล้วนะครับ พอเริ่มใกล้สิ้นปี ก็จะเริ่มมีตำแหน่งว่างทั้งในและนอกบริษัท หลายคนเริ่มมองหาโอกาสในการPromoteนะครับ ก็ขอให้โชคดีเจอบริษัทดีๆทุกคนนะครับ

วันนี้บริษัท Pharm Connection จำกัด มีความภูมิใจนำเสนอ เซเลบอีกคนในวงการยานะครับ เจ้าของผลงาน  หนังสือ Pharmaceutical Marketing: การตลาดเภสัชภัณฑ์  และ หนังสือ  Introduction to Pharmacy Profession: ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับวิชาชีพเภสัชกรรม ใช่ครับ ขอเชิญพบกับ พี่ ภก.ดร.อภิชัย อภิรัตนพิมลชัย หรือ พี่หลีนะครับ

ตอนนี้พี่หลี ทำงานในตำแหน่ง Senior Executive Manager-Business Development (GM-1 Level) บริษัทข้ามชาติซึ่งเป็นผู้นำตลาดในการให้บริการสนับสนุนการเติบโตทางธุรกิจให้กับคู่ค้าทางธุรกิจ (A Multinational Company- The Leading Market Expansion Services (MES) Provider)

พี่หลีสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เภสัชศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล มาครับ และได้มีการศึกษาอย่างอื่นเพิ่มเติม (ตาม Personal Homepage: www.apichai-a.com) ไม่รวม non-degree ก็คือ

- Doctor of Business Administration (Marketing),
Southern Cross University, Australia
- Master of Management in Marketing,
Central Queensland University, Australia,
- Master of Business Administration,
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
- Bachelor of Economics,
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
- Bachelor of Business Administration (Management),
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
- Bachelor of Communication Arts  (Advertising),
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
- Bachelor of Pharmacy
คณะเภสัชศาสตร์, มหาวิทยาลัยมหิดล

PC : พี่หลีครับ สอบถามพี่หลีว่า เส้นทางการเติบโตในวงการยาของพี่หลีแล้วทำไมจึงเลือกมาทำงาน BDครับ

พี่หลี : ถ้าเกี่ยวกับงานในวงการยานะครับ พี่ก็เริ่มต้นการทำงานในสายการผลิตเภสัชภัณฑ์ที่องค์การเภสัชกรรม หลังจากนั้นก็ได้เริ่มเข้าสู่งานทางด้าน Sales&Marketing โดยได้ร่วมงานกับ Multinational Pharmaceutical Companies ที่ติด chart  Top five โดยเริ่มต้นจากตำแหน่ง Medical Representative, Oncology Specialist, Product Marketing Specialist, Product Manager, และ Senior Product Manager (GM-2 Level) ตามลำดับครับ ในลักษณะของงาน Full time

ในขณะเดียวกันบางช่วงระยะเวลาของการทำงานข้างต้นนะครับ พี่ก็ได้ทำงานในลักษณะของ Part time ควบคู่กับงานประจำไปด้วย โดยการปฏิบัติหน้าที่เภสัชกรชุมชนให้กับร้านขายยารวมถึงการปฏิบัติหน้าที่เป็นเภสัชกรให้กับโรงพยาบาลเอกชน ไปด้วย

ก่อนจะมีช่วงที่เว้นวรรคจากอุตสาหกรรมยาไปศึกษาต่อและการทำงานในบริษัท Business Research and Consult ในลักษณะงานของการทำงานวิจัยและที่ปรึกษาทางธุรกิจให้กับหน่วยงานในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น สินค้าอุปโภค-บริโภค, เครื่องใช้ไฟฟ้า, ห้างสรรพสินค้า, ธุรกิจปิโตรเคมี, โรงพยาบาล รวมไปจนถึงโครงการจาก Regional office ของบริษัทเภสัชภัณฑ์นานาชาติ ก่อนจะกลับมาในอุตสาหกรรมเภสัชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ (Pharmaceuticals; OTC and Consumer Health Products) ทางด้านสายงานการพัฒนาธุรกิจ หรือ Business Development กับบริษัท Multinational Company ซึ่งเป็น The Leading Market Expansion Services (MES) Provider ที่ผู้ให้บริการในการสนับสนุนการเติบโตทางธุรกิจให้กับคู่ค้าทางธุรกิจนั่นเอง  ครับ

PC : รบกวนพี่หลี บอกรูปแบบงาน BD(Business Development) ว่าทำอะไรบ้าง

พี่หลี : เนื่องจากในหลายๆกรณีและหลายๆองค์การมีการระบุลักษณะงานของการพัฒนาธุรกิจที่แตกต่างกันไปได้นะครับดังนั้นพี่ขอแชร์ลักษณะงานพัฒนาธุรกิจในมุมมองของพี่นะครับ ในมุมของพี่งานพัฒนาธุรกิจจะเกี่ยวกับการเพิ่มการเติบโตทางธุรกิจให้กับองค์การผ่านการนำเสนอบริการและรูปแบบทางธุรกิจ (Business Model) ที่มีความยืดหยุ่นและสามารถตอบสนองต่อความต้องการของคู่ค้าหรือพันธมิตรทางธุรกิจได้อย่างลงตัว ซึ่งรูปแบบทางธุรกิจหรือ Business Model นั้นอาจจะหมายรวมถึง การนำสินค้าใหม่ๆเข้ามาเพื่อเปิดตลาดในประเทศไทย หรือหลายๆครั้งก็อาจเป็นรูปแบบที่พบเห็นได้ในอุตสาหกรรมยาทั่วไปเช่น การควบรวมกิจการ, การซื้อสิทธิ์ในการจัดจำหน่ายเภสัชภัณฑ์บางตัว เป็นต้น ครับ ทั้งนี้การทำงานการพัฒนาธุรกิจเป็นสายงานที่เพิ่มการเติบโตให้กับองค์การในเชิง “การเติบโตธุรกิจแบบก้าวกระโดด” หรือ “Inorganic Growth” นั่นเองครับ

PC : ถ้าอยากเป็น BD ต้องทำด้านไหนมาก่อนหรือ skills อะไรถึงจะมาทำงาน BD ได้ครับ

พี่หลี : สำหรับสายงานนี้นะครับ ควรจะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะของการจำหน่าย, การตลาด, ทักษะทางการวิเคราะห์, การปฏิสัมพันธ์, การนำเสนอ, การขาย, แนวคิดเกี่ยวกับ Sales Force Effectiveness และการบริหารจัดการกลุ่มผลิตภัณฑ์ (Portfolio Management)  เป็นต้นครับ... เนื่องจากงานจะมีความเป็นพลวัตรค่อนข้างสูง... สินค้าแต่ละตัวจะมีลักษณะที่แตกต่างกันไป และมีความใหม่ของข้อมูล ตลอดเวลาครับ

PC : อยากให้พี่หลี แนะนำหลักการทำงานเพื่อ motivate น้องๆที่กำลังค้นหาตัวเอง ทำอย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จได้

พี่หลี : พี่อาจจะขอแบ่งปันแนวคิดของตัวเองนะครับตามประสาคนทำงานและใช้ชีวิตในสังคมคนหนึ่งนะครับ ซึ่งเป็นธรรมดาว่าพี่เองก็จะต้องสร้างแรงจูงใจหรือจุดไฟในการทำงานอยู่เรื่อยๆครับ....

1.อย่างแรกนะครับก็อยากให้น้องๆคิดว่าอะไรเป็นสิ่งที่เราคิดว่าเราอยากจะเป็น... และแยกความอยากจะเป็นออกจากความอยากได้..  เพราะการอยากเป็นคือการที่เราอยากเป็นในสิ่งที่ใช่สิ่งที่เป็นตัวตนของเรา...แต่การอยากได้อาจเป็นเพียงความรู้สึกฉาบฉวยต่อการอยากได้ต่อสิ่งเร้า... เราได้ในสิ่งที่อยากได้แต่อาจไม่ใช่ตัวตนของเรา.. แต่การอยากเป็นคือความฝันที่เป็นฝันดีของเรา...ฝันที่เรามีความพึงพอใจอย่างจริงใจกับตัวเองต่อสถานะนั้นๆ

2.อย่างที่สองการบริหารจัดการกับฝัน(ดี)ของเราอย่างเหมาะสมแก่สถานะ สอดคล้องกับเงื่อนไขหรือข้อจำกัด... ซึ่งการที่เราสามารถที่จัดการกับฝัน(ดี)ของเรานี้เองก็จะส่งผลในการสร้างความประทับใจให้กับเพื่อนร่วมงานไปจนถึงเจ้านาย จนกระทั่งสามารถสร้างประโยชน์ให้กับองค์การที่ทำงานอยู่

3.อย่างที่สามน้องๆจะต้องมีระเบียบแบบแผนในการวางแผนการบริหารจัดการความฝัน(ดี) เช่น การกำหนดเป้าหมายที่จับต้องได้, ปฏิบัติได้.. ผ่านการขีดเส้นทางเดินที่ทำให้เกิดแผนผังหรือเข็มทิศในการไปให้ถึงธงชัยแห่งความฝัน(ดี)ของน้องๆ

4.อย่างที่สี่หมั่นตรวจสอบ... ความจริงกับความฝัน(ดี).. ว่าทุกๆวัน ที่ผ่านไป...  ทุกๆปีที่ผ่านไป... เราได้เดินตามแผนผังแล้วหรือไม่... หรือเราหยุดเดินไปแล้ว..หรือ..เราได้หลงทางไปแล้ว.... หรือแผนผังนั้นไม่ทันสมัยแล้ว... เราต้องปรับปรุงตัวเอง..หรือ แผนผังให้ทันสมัยหรือให้เหมาะสมกับการไปถึงธงชัยแห่งความฝัน(ดี)หรือไม่..มากน้อยเพียงใด

5.อย่างที่ห้า.. ปรับตัวเรียนรู้สิ่งแวดล้อมและสร้างความเพียรต่อการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีคุณลักษณะหรือความพร้อมต่อการไปถึงธงชัยแห่งความฝัน(ดี) เช่น... ระหว่างทางเราต้องว่ายน้ำข้ามฝั่ง... เราควรจะเปลี่ยนจากรองเท้าหนังหรือรองเท้าส้นสูง.. มาใส่ตีนกบ..เพื่อให้พร้อมต่อการไปตามเส้นทางตามแผนผังนั้น...ซึ่งน่าจะดีกว่าการทนฝืนว่ายน้ำด้วยรองเท้าหนังหรือรองเท้าส้นสูงนั้นต่อไป...

สุดท้าย... ทำทุกวันให้ดีที่สุดและมีความสุขครับ...เพื่อความฝัน(ดี)ของน้องๆเอง

PC : ในฐานะพี่หลีเป็น Gen X ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่าง Baby boom กับ Gen Y ขอให้พี่หลีแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประสบการณ์การทำงานร่วมกันกับหลาย Generation ว่าเราจะ manage กลุ่มคนแต่ละ Gen อย่างไร

พี่หลี : เป็นคำถามที่ตรงกับความรู้สึกในทุกๆวันของการทำงานเลยครับ ในการทำงานร่วมกันโดยที่จะต้องอยู่ระหว่างพี่ๆ Baby boom กับ น้องๆ Gen Y นั้น อย่างแรกเลยนะครับ ต้องอาศัยความเข้าใจในธรรมชาติของคนแต่ละรุ่นที่ย่อมมีความแตกต่างกันไป

เช่น พี่ๆ Baby boom จะเป็นผู้ที่อดทน, ประหยัด, รอบคอบ, ขยันทำงานและมีความจริงจังในการทำงานอย่างมาก หรือก็คือจะมีลักษณะการดำเนินมีชีวิตที่สัมพันธ์กับการทำงานสูง, ทุ่มเทในการทำงาน

ในขณะที่น้องๆ Gen Y จะเป็นเด็กอาจจะเชื่อว่า ในชีวิตคนเรามีหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่จำเป็นจะต้องอดทน ซึ่งอาจจะเป็นเพราะน้องๆ Gen Y เติบโตมากับยุคสมัยของคอมพิวเตอร์, เกมส์ติจิตอลต่างๆ... ที่น้องๆสามารถควบคุมสถานการณ์และสั่งการให้โปรแกรมและ/หรือเกมส์ต่างๆ เริ่มใหม่ได้เมื่อมีความรู้สึกไม่พอใจเพียงแค่ การ restart หรือ reset นอกจากนี้น้องๆ Gen Y จะมีลักษณะของการทำงานได้หลายๆอย่างในเวลาเดียวกัน

เมื่อทำความเข้าใจธรรมชาติของคนแต่ละรุ่นที่มีความแตกต่างกันไปได้แล้ว เราต้องหมั่นสอบถามความต้องการของพี่ๆน้องๆทั้งสองรุ่นและนำกลับมาหาหนทางในการสื่อสารให้เหมาะสมกับคนทั้งสองรุ่น

ในการทำงาน พี่ๆ Baby boom จะให้แนวทางในการทำงานเป็นกรอบความคิดกว้างๆ เราอาจจะต้องมา Manage กรอบความคิด และความคาดหวัง แล้วแปลงสิ่งต่างๆเหล่านั้นให้เป็นนามธรรมจับต้องได้และมีตัวอย่างประกอบการอธิบายเพื่อสื่อสารให้กับน้องๆ Gen  Y  เนื่องจากน้องๆ Gen Y นั้นจะมีธรรมชาติที่ต้องการความชัดเจนในการทำงานเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการครับ นอกจากนี้ในบางครั้งจะให้แนวทางน้องๆ Gen Y ในการทำงานโดยการแบ่งหัวเรื่องและส่วนงานให้ชัดเจนและทำงานแต่ละส่วนให้เสร็จสิ้นเพื่อนำเสนองานต่อผู้บังคับบัญชา Baby boom เป็นส่วนๆไป เพื่อป้องกันความขัดแย้งของรูปแบบการทำงานเพราะพี่ๆรุ่น Baby boom จะทำงานในลักษณะ Focus และทำงานให้จบเป็นเรื่องๆไป แต่น้องๆ Gen Y มักจะทำงานหลายๆงานไปพร้อมๆกันซึ่งอาจจะส่งผลให้พี่ Baby boom รู้สึกว่าทำไมไม่ใส่ใจหรือไม่มีสมาธิในการทำงานให้จบเป็นเรื่องๆ หรืออาจจะมองว่าเป็นการทำงานจับจดไม่ Focus ได้

โดยส่วนตัวของพี่แล้ว..พี่คิดว่าจริงๆน้องๆ Gen Y เค้าจะทำให้เสร็จได้ถึงแม้จะทำพร้อมกันทีละหลายๆอย่าง เพราะพี่เชื่อว่าการที่แนวโน้มที่น้องๆ Gen Y มีลักษณะการทำงานในรูปแบบนี้เพราะน้องๆ Gen Y เป็นเด็กที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมทางสังคมมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นสภาพเศรษฐกิจ, เทคโนโลยี, การสื่อสารทั้งภาพและเสียง... จนเด็ก Gen Y จะให้ความสนใจต่อการเปลี่ยนแปลงรอบๆตัวไปเกือบแทบจะทุกเรื่อง อย่างไรก็ตามจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้ทำงานร่วมกับน้องๆ Gen Y ของพี่ทำให้พี่เชื่อว่าน้องๆ Gen  Y มีความสามารถและสามารถทำงานปิด Job ได้ตามที่มอบหมายด้วยวิธีการทำงานที่แตกต่างกันไปบ้าง ก็เท่านั้น

ในฐานะคนตรงกลางพี่เชื่อว่าทำให้เราได้เรียนรู้อะไรหลายๆอย่างระหว่างการทำงานร่วมกันซึ่งอาจจะต้องมีการปรับจูนทัศนคตินิดๆหน่อยๆครับ...

PC :ในฐานะผู้บริหารกลุ่มธุรกิจมองตลาดยา พี่หลีมองตลาดยาในปัจจุบันเป็นอย่างไร โอกาส อุปสรรค ในตลาดยาเป็นอย่างไรบ้างครับ

พี่หลี : ส่วนนี้ต้องขอออกตัวนะครับว่า.. ไม่ได้เป็นนักพยากรณ์นะครับ..ขอแสดงทัศนะส่วนตัวเท่านั้นว่า.. ในตลาดยาปัจจุบัน น่าจะยังคงเป็นไปตามแนวโน้มในช่วงระยะเวลาทีผ่านมา ....ในทิศทางของการชะลอตัวจากปัจจัยของผลกระทบด้านปัจจัยมหภาค เช่น นโยบาย หรือ ภาวะเศรษฐกิจของประเทศและภูมิภาคของเราครับ

การใช้ยาของแพทย์จำเป็นจะต้องยืนอยู่บนพื้นฐานของ Evidence และนโยบาย
ส่วนตลาดยาที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคอาจจะมีแนวโน้มของ Self-medication ในเบื้องต้นเพิ่มขึ้นนะครับ เภสัชกรก็จะมีบทบาทเพิ่มขึ้นในส่วนนี้ชัดเจนครับ

PC : ขอบคุณพี่หลีมากนะครับ สำหรับคำแนะนำดีๆสำหรับน้องๆทุกท่านนะครับ และอย่าลืมติดตามหนังสือ Pharmaceutical Marketing: การตลาดเภสัชภัณฑ์  และ หนังสือ  Introduction to Pharmacy Profession: ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับวิชาชีพเภสัชกรรม หนังสือดีๆที่น่าอ่านครับ สำหรับวันนี้สวัสดีครับ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทฤษฎีโครงสร้างการเล่าเรื่อง (Storytelling)

ตัวอย่าง Cover Letter ที่ถูกต้อง

น้องตูน MSL