ทฤษฎีโครงสร้างการเล่าเรื่อง (Storytelling)

ทฤษฎีโครงสร้างการเล่าเรื่อง (Storytelling)

การเล่าเรื่องถือกำเนิดมาพร้อมกับสังคม และความเป็นมนุษย์ กล่าวคือ
เรื่องเล่าเป็นเสมือนกับต้นแบบหรือสิ่งที่มนุษย์ถือกำเนิดมาด้วย
สังเกตได้จากการที่มนุษย์ไม่ว่าจะยุคไหนสมัยไหนต่างก็บริโภคเรื่องเล่ากันมาแล้วทั้งนั้น

เรื่องเล่าปรากฏออกมาในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะของภาพเขียนบนผนัง งานศิลปะประเภทต่างๆ มุขปาฐะและนิทานปรัมปรา
เรื่องสั้น นวนิยาย สารคดี ภาพยนตร์ และไม่เว้นแม้แต่กระทั่งในความฝัน
ซึ่งสิ่งที่ปรากฏในฝันนั้นก็มีลักษณะของเรื่องราวที่สามารถนำมาเล่าเป็นเรื่องได้เช่นเดียวกัน

วิธีการดำเนินงานของการเล่าเรื่อง ซึ่งมีทั้งสิ้น 2 วิธี ได้แก่

1.การเชื่อมโยงการกระทำหรือเหตุการณ์เข้าด้วยกันตามลำดับเหตุการณ์หรือตามหลักของเหตุและผล
2. การจัดหาองค์ประกอบอื่นๆ มาเสริมให้เกิดความเข้มข้นขึ้นหรือก่อให้เกิดความเข้าใจที่ปะติดปะต่อจากสิ่งที่เห็นได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับตัวละคร และฉาก เป็นต้น
การศึกษาการเล่าเรื่อง (Story telling) นั้น
มักจะศึกษาโดยพิจารณาจากองค์ประกอบต่างๆ
ของโครงสร้างการเล่าเรื่องตามทฤษฎีการเล่าเรื่อง (Narrative Theory)
ซึ่งองค์ประกอบต่างๆ นั้นประกอบไปด้วย

1. โครงเรื่อง (Plot)
โครงเรื่อง คือ การจัดลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างมีเหตุมีผล และมี
จุดหมายปลายทาง กล่าวคือ มีตอนต้น ตอนกลาง และตอนจบของเรื่อง
โดยปกติแล้ว โครงเรื่องจะมีโครงสร้างแบ่งออกเป็น 5 ส่วนใหญ่ๆ ดังที่เห็นได้ในรูปภาพ

                                            ภาพที่ 1.1 ภาพแสดงขั้นตอนตามโครงสร้างของโครงเรื่อง

1.1 การเริ่มเรื่อง (Exposition) คือวิธีการเปิดเรื่องราว ซึ่งอาจจะ
เริ่มเรื่องจากตอนกลางเรื่อง หรือย้อนจากตอนท้ายไปยังต้นเรื่องก็ได้
ไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับเหตุการณ์ แต่สามารถปะติดปะต่อได้จากการรับชมเรื่องราวทั้งหมด โดยจุดเด่นของการเริ่มเรื่องอยู่ที่การแนะนำตัวละคร ฉาก หรือสถานที่ เพื่อทำให้ผู้ชมเกิดความสนใจใคร่ติดตาม

1.2 การพัฒนาเหตุการณ์ (Rising Action) คือการที่เรื่องราว
ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและเชื่อมโยงกันด้วยเหตุและผล
ปมปัญหาหรือปมขัดแย้งจะต้องเริ่มชัดเจนและมีความเข้มข้นมากขึ้น
นำไปสู่ความลำบากใจหรือสถานการณ์หรือสภาวะยุ่งยากใจของตัวละคร

1.3 ภาวะวิกฤต (Climax) คือขั้นตอนที่ความขัดแย้งในเรื่องพุ่งไป
จนถึงขีดสุด ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดของเรื่อง และตัวละครจะถูกบีบบังคับให้เลือกปฏิบัติอะไรบางอย่างเพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นปัญหาที่หนักหนาที่สุด

1.4 ภาวะคลี่คลาย (Falling Action) คือเหตุการณ์ที่สืบเนื่องจาก
การตัดสินใจของตัวละครในภาวะวิกฤต เป็นขั้นตอนที่ผ่านพ้นจุดที่เป็นภาวะวิกฤตของเรื่อง และประเด็นปัญหาในเรื่องได้รับการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว

1.5 การยุติของเรื่องราว หรือจุดจบของเรื่อง
(Ending/Denouncement) คือจุดจบของเรื่อง
เป็นขั้นตอนสุดท้ายที่เรื่องราวได้ดำเนินมาถึงจุดที่ต้องจบสิ้นลง
ซึ่งอาจมีตอนจบท้ายเรื่องได้หลากหลายรูปแบบ เช่น จบแบบมีความสุข (Happy Ending) จบอย่างสูญเสีย (Tragic Ending)
หรือจบแบบเป็นปริศนาที่ทิ้งไว้ให้ขบคิดต่อไป (Open Ending) เป็นต้น

2. แก่นเรื่อง (Theme)
แก่นเรื่อง คือ ความคิดรวบยอดที่เกิดขึ้นในเรื่องราวที่เกิดจากการสร้างสรรค์ขึ้น โดยแก่นเรื่องจะเป็นแก่นของความคิดที่ผู้ชมจะได้รับรู้หลังจากชมละครหรือเรื่องราวนั้นๆ จบ กล่าวคือ แก่นเรื่องคือส่วนที่เป็นเสมือนความหมายสำคัญที่ผู้เขียนหรือผู้สร้างเรื่องราวต้องการสื่อสารกับผู้ชม
โดยจุดหลักๆ ของการทำความเข้าใจกับแก่นเรื่องก็คือการทำความเข้าใจ
กับเรื่องราวทั้งหมด รวมถึงการสังเกตจากองค์ประกอบอื่นๆ ที่ปรากฏในเรื่อง อาทิเช่น ชื่อเรื่อง ชื่อตัวละคร คำพูดบางประโยคที่ตัวละครพูด
หรือสัญลักษณ์พิเศษบางอย่างที่สอดแทรกเข้ามาในเรื่อง เป็นต้น

3.ความขัดแย้ง (Conflict)
ความขัดแย้งหรืออุปสรรคเป็นองค์ประกอบที่สำคัญประการหนึ่งในการ
เล่าเรื่อง เพราะมันเป็นองค์ประกอบที่ก่อให้เกิดเป็นปมปัญหาที่จะนำพาให้เรื่องราวพัฒนาและดำเนินต่อไปได้ผ่านกระบวนการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นของตัวละคร

ความขัดแย้ง ประกอบไปด้วย

3.1ความขัดแย้งภายนอก (Outer Conflict) ซึ่งหมายความถึง
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเชิงกายภาพ แบ่งเป็นประเภทย่อยๆ ได้อีก คือ
-ความขัดแย้งระหว่างคนกับคน คือการที่คนสองฝ่ายมีปัญหา
หรือไม่ลงรอยกัน ต่อต้านกัน
-ความขัดแย้งระหว่างคนกับธรรมชาติ หรือพลังภายนอก
คือการที่คนมีปัญหากับสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัว
เช่น สภาพแวดล้อมอันเลวร้าย เป็นต้น

3.2ความขัดแย้งภายใน (Inner Conflict) ซึ่งหมายความถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเชิงจิตใจ เป็นความขัดแย้งภายในจิตใจ หรือกระบวนการความคิดของตัวละคร รวมไปถึงการต่อสู้เอาชนะกับจิตสำนึกในจิตใจ ซึ่งลักษณะของความขัดแย้งประเภทนี้จะเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับตัวละครตัวใดตัวหนึ่งคนเดียวเพราะเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในจิตใจของตัวละครนั้นๆ เอง

4. ตัวละคร (Character)
ตัวละคร คือ ผู้ที่ดำเนินเหตุการณ์และเป็นคนนำพาให้เรื่องราวที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นดำเนินต่อไป เป็นผู้กระทำเหตุการณ์ต่างๆ ตามเรื่องราวที่ถูกกำหนดไว้ โดยวิธีการวิเคราะห์ตัวละครนั้น สามารถแบ่งได้ดังต่อไปนี้

4.1วิเคราะห์ตามความสำคัญของตัวละคร ซึ่งจะสามารถ
แบ่งตัวละครออกมาได้เป็นสองจำพวก ได้แก่ ตัวละครหลัก
คือตัวละครที่เป็นฝ่ายดำเนินเรื่อง และตัวละครรอง คือตัวละครอื่นๆ ที่เป็นส่วนช่วยในการนำพาให้เรื่องราวเคลื่อนที่ไปข้างหน้าอย่างสมบูรณ์

4.2วิเคราะห์ตามบทบาทที่ตัวละครได้รับ ซึ่งจะพิจารณาจาก
รายละเอียดและบทบาทของตัวละครที่ปรากฏในเรื่อง เช่น
เป็นพระเอก/นางเอก (Hero) เป็นตัวร้าย (Villain)
หรือเป็นผู้ช่วยเหลือ (The Helper) เป็นต้น

4.3วิเคราะห์ตามคุณลักษณะของตัวละคร ซึ่งจะสามารถแบ่ง
ออกมาได้เป็นสองจำพวก ได้แก่ ตัวละครแบบด้านเดียว
หรือตัวละครแบบแบน หรือตัวละครแบบตายตัว (Typed Character)
คือ ตัวละครที่มองเห็นได้เพียงด้านเดียว ไม่มีมิติ กับตัวละครแบบมองเห็นได้รอบด้าน หรือตัวละครแบบกลม (Well rounded Character)
คือ ตัวละครที่มีมิติ มีลักษณะเหมือนคนจริงๆ มีเหตุผลในการกระทำสิ่งต่างๆ

4.4วิเคราะห์ตามพัฒนาการของตัวละคร ซึ่งจะสามารถแบ่ง
ออกมาได้เป็นสองจำพวก ได้แก่ ตัวละครแบบนิ่ง (Static Character)
คือตัวละครที่ไม่มีพัฒนาการใดๆ ไม่เกิดการเรียนรู้หรือการเปลี่ยนแปลงใดๆ หลังจากผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ในเรื่องมา และตัวละครแบบเคลื่อนไหว (Dynamic Character) คือตัวละครที่มีการเปลี่ยนแปลง
ในเชิงความคิดจิตใจ หรืออุปนิสัยใจคอหลังจากผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ในเรื่อง

5. บทสนทนา (Dialogue)

บทสนทนา หมายถึง ศิลปะของการถ่ายทอดเรื่องราวและความคิดของ
ผู้ประพันธ์ผ่านทางคำพูดหรือบทสนทนาของตัวละคร
โดยส่วนใหญ่แล้วจะเห็นได้ว่าบทสนทนาซึ่งเป็นการดำเนินเรื่องหลักของละครนั้น มักจะสื่อถึงวาทกรรมที่อิงกับอุดมการณ์
โดยอุดมการณ์ดังกล่าวนั้นมักจะมาจากมายาคติ (Myth)
หรือค่านิยมทางสังคมที่ยึดถือกันต่อๆ มา
บทสนทนาส่วนใหญ่จะสะท้อนให้เห็นถึงความคิด มุมมอง ความรู้สึก
รวมไปถึงค่านิยมหรือสิ่งที่ตัวละครเชื่อหรือสนใจ โดยการพิจารณานั้นก็จะต้องพิจารณาผ่านการวิเคราะห์หาความหมายที่ซ่อนอยู่ภายใต้คำพูด หรือบทสนทนาที่ตัวละครได้แสดงออกมานั่นเอง

6. ฉาก (Setting)

ฉาก คือ สถานที่ รวมถึงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ ซึ่งฉากนั้นสามารถสะท้อนให้เห็นถึง ความหมายบางอย่างของเรื่องได้ อีกทั้งยังสามารถมีอิทธิพลกับความคิด ความรู้สึก และการตัดสินใจของตัวละครได้อีกด้วย

ฉาก สามารถแบ่งเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังต่อไปนี้

6.1ฉากธรรมชาติ คือ ฉากที่เป็นสถานที่ตามธรรมชาติ เช่น
ป่า น้ำตก ทะเล เป็นต้น

6.2ฉากประดิษฐ์ คือ ฉากที่เกิดจากการประดิษฐ์ หรือ
สิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์สร้างไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ฉากในบ้าน
ฉากในพระราชวัง เป็นต้น

6.3ฉากที่เกี่ยวเนื่องกับยุคสมัย หรือช่วงเวลา คือ ฉากที่มี
เงื่อนไขเกี่ยวกับยุคสมัยหรือช่วงเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยยุคสมัยหรือช่วงเวลานั้น อาจจะถูกกำหนดมาในเรื่องอยู่แล้ว เช่น ละครที่มีเรื่องราวที่เกิดขึ้นในยุคสมัยโบราณ หรือละครย้อนยุค เป็นต้น

6.4ฉากที่เป็นสภาพแวดล้อมเชิงนามธรรม คือ ฉากที่เกิดขึ้นใน
สภาวะแวดล้อมที่จับต้องไม่ได้หรือเป็นนามธรรม แต่มีผลบางอย่างกับตัวละครในเรื่อง เช่น เรื่องราวบางเรื่องราวอาจมีประเด็นที่สะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมหรือความคิดที่ครอบงำจิตใจของตัวละครจนทำให้มีผลต่อเรื่องราว เป็นต้น

7. ตอนจบ (Ending)
ตอนจบหรือการปิดเรื่องนั้น สามารถสะท้อนให้เห็นถึงความหมาย
บางอย่างที่เรื่องราวต้องการจะสื่อได้ มีทั้งสิ้น 4 รูปแบบ ได้แก่

7.1การจบแบบหักมุม (Surprise Ending) คือ การจบแบบพลิก
ความคาดหมายและทำให้เกิดความประหลาดใจ

7.2การจบแบบโศกนาฏกรรม (Tragic Ending) คือ การจบแบบ
เศร้า หรือลงเอยด้วยเรื่องราวที่โศกเศร้า เช่น การตาย ความผิดหวัง
หรือมีการลาจาก การสูญเสีย

7.3การจบแบบสุขนาฏกรรม (Happy Ending) คือ
การจบแบบสุข หรือลงเอยด้วยความสุขหรือความสำเร็จของตัวละคร

7.4การจบแบบเป็นจริงในชีวิต (Realistic Ending) คือ
การจบเรื่องแบบทิ้งปัญหาค้างไว้ให้ผู้ชมได้คิดต่อกันเอง เหมือนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ ทั้งนี้เพราะในชีวิตจริง มีปัญหาอีกมากมายที่ไม่สามารถคิดหาคำตอบหรือแก้ไขได้

8. มุมมองในการเล่าเรื่อง (Point of view)
มุมมองในการเล่าเรื่อง หมายความถึง การมองเหตุการณ์ การเข้าใจ
พฤติกรรมของตัวละครในเรื่องผ่านสายตาของตัวละครตัวใดตัวหนึ่ง
มุมมองในการเล่าเรื่องนั้นมีส่วนสำคัญยิ่งต่อการสอดแทรกอุดมการณ์
ความคิด ความเชื่อ ค่านิยมต่างๆ ของคนเล่าลงไปในเนื้อหาหรือเรื่องราว การเลือกมุมมองในการเล่าเรื่องจึงสำคัญมากสำหรับการเล่าเรื่องเพราะมุมมองในการเล่าเรื่องเป็นเสมือนการสรุปความต้องการและอารมณ์ของเรื่องราวที่ต้องการเล่าด้วยการใช้มุมมอง ความคิด หรืออารมณ์ของตัวละครที่ถูกใช้เป็นผู้เล่าเรื่องหรือผู้มองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่องนั่นเอง

ลักษณะของมุมมองในการเล่าเรื่องแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

8.1 มุมมองแบบบุรุษที่ 1 (First Person Point of view) เป็นลักษณะของการเล่าเรื่องของตัวเองผ่านตัวเอง ดังนั้นมักจะมีเสียงเล่า หรือแทนสรรพนามตัวเองเป็น “ฉัน, ผม ฯลฯ” เป็นต้น
ลักษณะของการเล่าด้วยมุมมองแบบบุรุษที่ 1 จะทำให้เกิดความรู้สึกที่เป็นส่วนตัว

8.2 มุมมองแบบบุรุษที่ 3 (Third Person Point of view) เป็นลักษณะของการเล่าเรื่องแบบที่ตัวละครไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับเรื่องราว และเล่าโดยมุมมองของคนที่มองเห็นเหตุการณ์ทั้งใกล้และไกล รวมไปถึงความคิดคำนึงของตัวละครต่างๆ มีบางครั้งก็เรียกมุมมองการเล่าเรื่องแบบนี้ว่ามุมมองแบบพระเจ้า (Omniscient Point of view)

จากที่ได้รวบรวมและเรียบเรียงหลักการของการทำ Story Telling มาให้อ่านกัน อยากให้ทุกท่นได้ลองฝึกเล่าเรื่องกัน โดยวิธีที่จะใช้ฝึกในการทำStory Telling คือ ฝึกเล่าเรื่องของตัวเองครับ ซึ่งจะได้ใช้มากตอนสัมภาษณ์งาน อยากให้ฝึกเล่าเรื่องของตัวเอง เริ่มจาก Success Story ก่อนเป็นอันดับแรก หลังจากฝึกจนคล่องแล้ว ลองฝึกเล่าแบบกระชับมากขึ้น ตรงประเด็นมากขึ้นครับ ซึ่งStory Telling เป็นทักษะที่สำคัญในการทำงานทุกวงการ ทุกตำแหน่ง
ฝึกกันเยอะๆนะครับ

ภก.ภูริทัต ว่องพุฒิพงศ์
รวบรวมและเรียบเรียง


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ตัวอย่าง Cover Letter ที่ถูกต้อง

น้องตูน MSL