พี่กฤษดา Country Manager บริษัท GE Healthcare จำกัด


สวัสดี เดือนสุดท้ายของปีนะครับ ปีนี้ทางบริษัทได้แนะนำกูรูมาหลายท่าน ซึ่งต่างมีความสามารถในด้านต่างๆมากมายนะครับ วันนี้เรามาพบกับอีก 1 กูรู ในด้านเครื่องมือแพทย์ครับ ตลาดเครื่องมือแพทย์ถือเป็นตลาดปราบเซียนอย่างแท้จริงนะครับ เพราะด้วยรูปแบบสินค้าและการทำการตลาดที่หลากหลาย มารู้จักกับพี่ กฤษดา เพียรเพิ่มภัทรตอนนี้พี่กฤษดาเป็น CM(Country Manager)บริษัท GE Healthcare จำกัดนะครับ เรามารู้จักตัวตนและมุมมองของพี่กฤษดา ต่อวงการเครื่องมือแพทย์กันครับ



PC : รบกวนพี่ กฤษดา แนะนำตัวสักหน่อยครับ

KP :  สวัสดีครับทุกท่าน ผมชื่อ กฤษดา นะครับ จบปริญญาตรี วท.บ. รังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ มหิดล และ ปริญญาโท MBA Marketing ที่ มศว.ประสานมิตร รุ่น 1 เป็นรุ่นบุกเบิกครับ

PC : พี่กฤษดาเข้าวงการเครื่องมือแพทย์ได้อย่างไรครับ  เส้นทางเติบโตก่อนมาเป็นGMนี่ลำบากขนาดไหนครับ

KP :  จบมาใหม่ๆ ก็สมัครบริษัท ที่คุ้นหูคุ้นชื่อในวงการ รวมถึงบริษัทยาด้วยครับ แต่ด้วยความที่เป็นเด็กจบใหม่ประสบการณ์ไม่มี บริษัทยาจะไม่ให้โอกาส เลยประจวบกับทางบริษัทตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือแพทย์แห่งหนึ่ง ให้โอกาสเลยทำงานตั้งแต่เป็น Sales Engineer ไล่มาหาประสบการณ์กับบริษัทในเครือเปิดใหม่จาก Sales เป็น Product เปลี่ยนตำแหน่งมาเรื่อย Deputy Product Manager เป็น Product Manager จนมาอยู่ GE Healthcare ในปี 2005 ครับ เริ่มจาก Territory Sales Manager อยู่ GE มา 10 ปี ตำแหน่งล่าสุดคือ Country Manager ครับ คร่าวๆ ประมาณนี้ก่อนนะครับ ทั้งหมดจะ 20 ปีแล้วครับอยู่แค่ 2 บริษัท

PC : ในส่วนของการทำงานของวงการเครื่องมือแพทย์ มีส่วนเหมือนหรือต่างอย่างไรจากวงการยา ครับพี่

KP : เป็นคำถามที่ดีมากเลยครับ คือส่วนวงการยานั้นผมแทบไม่มีความรู้เลย แต่ผมคิดว่าอาชีพนักขายคงจะเหมือนกัน หน้าที่เริ่มต้นที่สร้างพื้นฐานความสัมพันธ์กับลูกค้า ขยายจุดดีของยาหรือสินค้าให้ลูกค้ามีในใจ จนจบกระบวนการจบการขาย แต่จุดที่แตกต่างกันชัดเจนคือ ระยะเวลาของการขายหรือ Sales Cycle จะแตกต่างกันมากครับระหว่างเครื่องมือซึ่งนานกว่า และยาซึ่งอาจเป็นรอบๆของการเปิดบิลและซื้อซ้ำง่ายกว่าครับ

PC : ในมุมของ CM หลักการบริหารงานของตำแหน่งCM ต้องมีอะไรบ้างครับ

KP :  หลักคิดที่สำคัญที่สุดคือ Leadership culture ครับ พูดเหมือนง่ายนะครับ แต่ลงมือปฏิบัตินั้น ทฤษฎีต่างๆเอามาประกอบกันแต่การใช้ในแต่ละสถานการณ์แยกจากกันต้องเอามาใช้เป็นส่วนๆไป
มันเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ แต่เหนือสิ่งอื่นใดการที่คนในองค์กรจะฟังเราได้ไม่ใช่พูดเก่ง จริงๆคือต้อง Truthful ครับ คือ นอกหรือใน พูดกับคิด ต้องเหมือนกัน และ Say Do Ratio ต้องสูงมากครับมิฉะนั้นคนในองค์กรจะเห็นภาพลักษณ์ที่เค้าจะจินตนาการได้เองต่างๆนานา บ้างก็ดีบ้างก็ไม่ดี ซึ่งแก้บางจุดได้ด้วยการเสริม Communication ที่ดีในหลากหลายรูปแบบครับ

PC : การสัมภาษณ์ตำแหน่งระดับmanager or senior management มาทำเครื่องมือแพทย์มีหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง เลือกคนแบบไหน

KP :  ว่ากันตามจริง ตอนนี้ผมก็กำลังหาคนดี คนเก่ง มาร่วมงานอยู่นะครับ (ฮา) ผมมีประสบการณ์หางานหรือไปสัมภาษณ์งานน้อยมากแทบนับครั้งได้ แต่เป็นผู้สัมภาษณ์คนเข้ามาทำงานบ่อย
ส่วนตัวแล้วผมชอบนะที่ได้เจอผู้คนที่เตรียมตัวมาดีบ้างไม่ดีบ้างหลายหลาย แต่สุดท้ายผมก็มีทริกในการดึงเอาตัวตนเค้าจริงๆออกมา การเป็นตัวของตัวเองเนี่ยละครับสำคัญที่สุดเพราะเราจะอยู่ในองค์กรไหนได้นานมากน้อยขึ้นอยู่กับการปรับตัวของเรากับสิ่งแวดล้อมใหม่และ โอกาสที่หัวหน้างานเราให้มากหรือน้อยด้วยเช่นกัน การสัมภาษณ์แค่ชั่วโมงเดียววัดได้แค่ว่า อัตลักษณ์และตัวตนเราเป็นแบบไหน
เสริมว่าทุกท่านที่ไปสัมภาษณ์งานควรจะหัดถามคำถามกลับบ้าง และ มองว่าเรื่องรายได้ สวัสดิการ เป็นเรื่องที่รอผู้สัมภาษณ์ถามมาค่อยตอบจะดูดีกว่ามากเลยครับ
ผมเกริ่นมากไปแต่จริงๆหลักการคิดเลือก อยู่ที่จิตวิทยาเชิงคิดครับ จะจูเนียร์หรือซีเนียร์ไม่ได้อยู่ที่อายุ แต่อยู่ที่ความมานะและพยายาม ผมใช้ปัจจุบันของงานตัวเองที่ทำอยู่และวิเคราะห์หาจุดดีจุดเสียเรื่อยๆ
เมื่อเราต้องการคนในตำแหน่งไหนๆ เราจะมองออกทันทีว่าคุณสมบัติคนนั้นต้องเป็นอย่างไร จะทำให้เราสามารถเลือกคนได้ตรงกับงานมากที่สุดครับ

PC : ช่วงนี้วงการสุขภาพ ตลาดโรงพยาบาล มีการเปลี่ยนแปลงมากในฐานะCM คิดอย่างไร และมองตลาดอย่างไรใน2-3ปีข้างหน้าครับ

KP :  นักขายรุ่นใหม่ มีความคิดสร้างสรรค์อะไรได้หลากหลายมากกว่าคนเก่าๆ อาจจะเป็นเพราะโลกเปลี่ยน ความเร็ว การเข้าถึงข้อมูลง่าย สิ่งต่างๆเหล่านี้ทำให้เรามองอนาคตและทำนายมันได้ยากว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป เศรษฐกิจโลกก็เป็นตัวแปร หลายอย่างไม่แน่นอน ใครจะรู้ว่า จีนจะมีอุปสรรคเรื่องภาวะชะลอตัว อเมริกาครบรอบ 10 ปีที่เศรษฐกิจถดถอย เกิดเหตุร้ายที่ฝรั่งเศสซึ่งมีระบบความปลอดภัยแน่นหนา  ผมว่าเรากำลังดำรงอยู่ในหลายอย่างที่ควบคุมไม่ได้ แต่.... เราควบคุมตัวเราเองได้ครับ เราต้องมองให้ออกในสิ่งที่กำลังทำอยู่และหัดคาดเดาในทางออกว่าจะเกิดได้กี่รูปแบบและเตรียมแผนรองรับได้ทุกรูปแบบ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วมันง่ายต่อเราในการพยายามแก้ไขหรืออาจยิ้มรับกับเหตุนั้นเมื่อเราพร้อมรับมืออยู่แล้ว

PC : จะเห็นได้ว่าตลาดโรงพยาบาลเอกชนโตขึ้นมาก และพยายามทำเมืองไทยเป็น medical hub กับตลาดAEC ในมุมมองของพี่คิดเห็นอย่างไรกับโอกาสของตลาดเครื่องมือแพทย์กับ AEC ครับ

KP :  ทุกคน ทุกบริษัท ทุกยอดนักขาย เห็นเหมือนกันหมด โอกาสก็จะกลายเป็นอุปสรรคทันทีเพราะการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้ลูกค้าได้กำไรจากการต่อรองสูง ซึ่งแน่นอนนั่นคือกลไกของเศรษฐศาสตร์ ผมว่าการที่มี AEC เข้ามาอาจจะยังไม่ส่งผลบวกต่อธุรกิจโรงพยาบาลในระยะสั้น เพราะว่า AEC จำเป็นต้องมีการปรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและคมนาคมให้ดีกว่านี้ก่อน งบการลงทุนภาคส่วนนี้จะทำให้ก้อนงบประมาณทางสาธารณสุขอาจจะชะลอตัวไปบ้าง แต่การกระตุ้นจากโรงพยาบาลภาคเอกชนเป็นเรื่องการเตรียมตัวปรับโฉมเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มาพร้อมกับการรักษาตัว ที่เรียกว่า Medical Tourism ครับส่วนตัวผมคิดว่าในระยะสั้น บทบาทของ Medical Tourism ใน กลุ่ม AEC จะยังไม่มีมากครับเพราะพื้นฐานแล้ว Medical Tourism จะมาจากลูกค้าฐานเดิมคือกลุ่มตะวันออกกลาง จีน ยุโรป

PC : ก่อนจากมีอะไรจะฝากกับพี่น้องวงการสุขภาพที่อยากเข้ามาทำงานวงการเครื่องมือแพทย์  

KP :  สำคัญมากๆเลยคือ ใส่ใจที่คนอื่นเห็นเรามองภาพเราอย่างไร ไม่ได้สำคัญมากว่าเราทำงานมากหรือหนักแค่ไหนเพราะคนเหล่านั้นไม่ได้มองเห็นภาพเดียวกับที่เราสร้าง และหมั่นถามเสียงสะท้อนอย่างสม่ำเสมอเพื่อปรับเปลี่ยนตัวเองกับทุกคนที่ทำงานด้วย รวมถึงทำใจรับให้ได้กับการเปลี่ยนแปลงซึ่งพื้นฐานมนุษย์มักจะไม่ชอบแต่เราสามารถให้พลังกับสติกับตัวเองได้ "อย่ายอมแพ้หากยังไม่ได้ลองทำมัน”
สุดท้ายขอบคุณบ.PharmConnectionมากครับ และ บุคคลหลายๆท่านที่ได้เข้ามาอ่านและอ่านจนจบ หากมีประโยชน์และเป็นพลังให้ท่านได้เริ่มคิดผมก็จะยินดีและมีความสุขมากเช่นกัน
ติดต่อผมได้ทางนี้นะครับ
email : kritsada.pienpermpat@ge.com
Line ID : kritsada_ge
Linkedin  :  https://th.linkedin.com/in/kritsada-pienpermpat-a2ba4a109

PC : ขอบคุณพี่กฤษดามากนะครับ สำหรับมุมมองและแนวคิดในการทำงาน เป็นแนวทางแก่น้องๆในวงการทุกท่านนะครับ อย่างที่พี่ กฤษดากล่าวไว้ครับ”อย่ายอมแพ้หากยังไม่ได้ลองทำมัน” ลองดูครับ วงการเครื่องมือแพทย์ไม่ได้ยากอย่างที่ทุกคนคิดครับ ขอบคุณครับ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทฤษฎีโครงสร้างการเล่าเรื่อง (Storytelling)

น้องตูน MSL

ตัวอย่าง Cover Letter ที่ถูกต้อง