น้องเอ รีวิวสถานที่สำคัญของ คณะเภสัช มหาวิทยาลัย มหิดล


สวัสดีครับ Pharm Connection ได้รับเกียรติจากน้องเอ นศภ.บดินทร์ โรจน์พงศ์เกษม จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้นปีที่ 6 มารีวิวสถานที่สำคัญของ คณะเภสัช มหาวิทยาลัย มหิดล



สวัสดีครับ ชื่อเอนะครับ นศภ.บดินทร์  โรจน์พงศ์เกษม จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ชั้นปีที่ 6 วันนี้นะครับ ผมจะมาเล่าถึงสิ่งที่มีความสำคัญมากๆในคณะเภสัชศาสตร์ของชาวมหิดล
เรียกว่า ถ้าไม่มีสิ่งนี้ ก็ไม่มีคณะเภสัชฯแห่งนี้เป็นแน่แท้





สำหรับใครที่เคยเข้ามาที่คณะของเราหรือเคยผ่านไปผ่านมา ก็น่าจะพอทราบว่าเรามีตึกใหญ่ๆอยู่ 2 ตึก ตึกด้านหน้าคือตึกเทพรัตน์ เป็นที่ตั้งของร้านขายยา ห้องสำนักงาน ห้องคณบดีและรองฝ่ายต่างๆ รวมถึงห้องเรียนและห้องประชุมใหญ่ ส่วนตึกด้านหลังก็คือตึกราชรัตน์ เป็นตึกโค้งสีขาวขนาด 8 ชั้นที่คอยโอบล้อมคณะของเราไว้ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ ห้องสมุด ฐานข้อมูลบริการประชาชน ห้องแล็บภาควิชาต่างๆและเครื่องมือปฏิบัติการที่ทันสมัย  โดยสิ่งแรกที่ทุกคนเข้ามาและจะเห็นเป็นสิ่งแรกคือ ศาลพระภูมิ..เอ้ย!! ไม่ใช่  เดินถัดมาอีกนิดนึงภายในตึกเทพรัตน์ กลางโถงจะมีรูปปั้นครึ่งตัวที่วางตระหง่านอยู่ตรงกลาง
ถูกสักการะด้วยดอกไม้และพานพุ่ม  พูดได้ว่า ใครที่ผ่านไปผ่านมาแถวนั้นจะยกมือขึ้นพนมไหว้โดยอัตโนมัติเลยทีเดียว  ท่านผู้นั้นก็คือ  “ท่านอาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร” ผู้ก่อตั้งและเป็นคณบดีคนแรกของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลนั่นเอง



อาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร เกิดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2465 (ซึ่งวันนี้วันที่ผมเขียนคือวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ช่างบังเอิญซะจริงๆ) ที่อำเภอขันเงิน จังหวัดหลังสวนหรือชุมพรในปัจจุบัน หลังจากจบ
ม. 3 จากโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา ก็ได้ย้ายมาศึกษาต่อในกรุงเทพและได้เข้าศึกษาในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เมื่อจบชั้นมัธยมท่านได้สอบติดเตรียมแพทย์ ครั้นกำลังจะเข้าศึกษาในจุฬาฯ ท่านก็คิดถึงการเป็นหมอ  ได้กล่าวไว้ในหนังสือเกษียณอายุราชการ อาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร พ.ศ. 2526 ไว้ตอนหนึ่งว่า “...การรักษาผู้ป่วย บางทีก็หาย บางทีก็ไม่หาย
เมื่อนึกถึงผู้ป่วยที่เราช่วยชีวิตเขาไว้ไม่ได้ ว่าจะต้องคิดสะเทือนใจอยู่เรื่อยๆ ชีวิตคงไม่มีความสุข
จึงอยากมีอาชีพอะไรที่น่าอภิรมย์สักหน่อย...”  ท่านจึงได้เลือกสมัครเข้าเรียนในสาขาเภสัชกรรม และในปลายปีนั้นเองได้เกิดมหาสงครามเอเชียบูรพา  ทำให้การเรียนการสอนของนักเรียนแพทย์ปรุงยาในสมัยนั้นเต็มไปด้วยความลำบากและขาดแคลน ดังที่อาจารย์ได้บันทึกไว้ในเรื่อง  “เรื่องของเภสัชกร 2489”
ว่า “ชีวิตการศึกษาของรุ่นนี้เป็นชีวิตที่ต้องผ่านอุปสรรคและเสี่ยงภัยตลอดเวลา  เพราะพวกเราเข้าเรียนก่อนสงครามเอเชียเพียงไม่กี่เดือน  และจบหลักสูตรภายหลังสงบศึกเพียงไม่กี่วัน...”  ครั้นเมื่อจบการศึกษาท่านได้ทำงานอยู่ร้านขายยาอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะมาเป็นอาจารย์ภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรม
มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ ตามคำชวนของ อาจารย์จำลอง สุวคนธ์  และได้รับทุนไปศึกษาต่อในสาขาเภสัชอุตสาหกรรม ที่มหาวิทยาลัยเพอร์ดู ประเทศสหรัฐอเมริกา  เมื่อจบมาแล้วเรียกได้ว่าเป็นเภสัชกรหนุ่มไฟแรงที่มีส่วนสำคัญอย่างมากในการพัฒนาการเรียนการสอนและกำลังคนในด้านเภสัชกรรมยุคนั้น  และได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ร่างโครงการก่อตั้งคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อผลิตเภสัชกรให้พอกับความต้องการของกระทรวงสาธารณสุขที่กำลังขาดแคลนอยู่ในขณะนั้น  ด้วยประสบการณ์ในการรักษาการเลขานุการคณะฯ จึงทำให้ท่านได้รับมอบหมายและก่อตั้งคณะเภสัชฯได้สำเร็จ
และได้ดำรงตำแหน่งเป็นคณบดีคนแรกอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2515
ท่านได้พัฒนาการศึกษาเภสัชศาสตร์และวางวิสัยทัศน์ไว้อย่างมากมาย  ด้วยรายวิชาที่หลากหลายที่มีการเรียนการสอนในคณะฯ  ทำให้บัณฑิตเป็นผู้มีความรู้กว้างในทุกสาขาของเภสัชศาสตร์ โดยไม่ได้ลงลึกในแต่ละสาขา  ทำให้ดูเหมือนว่าขาดความชำนาญเฉพาะทาง  แต่อาจารย์ประดิษฐ์มักมีประโยคเด็ดไว้อธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “ From here you can go everywhere” พวกเราสามารถทำงานได้ทุกที่
ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร..ยา..เครื่องสำอาง ซึ่งคณะสอนให้บัณฑิตมีความรู้ในสาขาต่างๆ แต่สามารถไปหาความรู้ความชำนาญในงานที่ทำเองได้ โดยเฉพาะเมื่อมีการศึกษาต่อในสาขาที่ตนเองสนใจ
แต่ในปัจจุบันหลักสูตรของคณะได้มีการลงลึกเฉพาะด้านมากขึ้น  ถึงกระนั้นประโยคทองของอาจารย์ประดิษฐ์ก็ยังเป็นที่กล่าวขานอยู่เสมอ  จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง จากบัณฑิตทุกยุคทุกสมัยว่า
“ From here you can go everywhere”  ซึ่งบัณฑิตมากมายที่จบการศึกษาจากที่นี่ได้ออกไปสร้างประโยชน์และประสบความสำเร็จ เป็นที่รู้จักทั้งในวงการยาและวงการอื่นๆ
วิสัยทัศน์ของท่านอาจารย์ประดิษฐ์ด้านการศึกษาและการพัฒนาได้ถูกสานต่อจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Clinical Pharmacy ในสมัยนั้นท่านอาจารย์ไปคุยกับคณบดีแพทย์ท่านหนึ่งถึงการให้เภสัชกรเข้าไปมีบทบาทในการขึ้นวอร์ดและให้คำปรึกษาด้านการใช้ยา แต่เมื่อนำเรื่องเข้าที่ประชุมแพทยสภาก็ถูกโจมตีจนตกไป  หรือแม้แต่เรื่องเภสัชกรรมชุมชน ที่ได้จัดตั้งร้านขายยาในสถาบันศึกษาเพื่อให้บริการกับประชาชนและเพื่อฝึกทักษะด้านการบริบาล เภสัชกรรมให้กับนักศึกษาจนเป็นแบบอย่างแก่สถานศึกษาอื่นๆ  หรือการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมยาเล็กๆในคณะเพื่อเป็นการเพิ่มประสบการณ์ให้นักศึกษาในด้านการผลิตยา  จนปัจจุบันได้ขยายการผลิตจนโรงงานย้ายไปตั้งที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ท่านอาจารย์เป็นผู้ที่ทุ่มเทและมุ่งมั่นอย่างมาก ในวัย 60 ปีเศษ แม้ว่าจะเกษียณอายุราชการไปแล้ว
งาน งาน และงานก็ยังคงอยู่ในลมหายใจของอาจารย์อยู่เสมอ  วันที่  22  พฤษภาคม  2528
ตอนเวลาบ่ายสอง  มีประชุมคณะกรรมการนโยบายบัญชียาหลักแห่งชาติ  ที่กระทรวงสาธารณสุข
ได้อภิปรายเรื่องการเสนอความเห็นต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้บัญชียาหลัก แห่งชาติ  หลังจากที่ท่านอาจารย์ประดิษฐ์อธิบายเสร็จได้ไม่นาน  อาจารย์ประโชติ  เปล่งวิทยา  ได้สังเกตเห็นอาจารย์เอนศีรษะมาที่บ่าครั้งแรก  ตอนแรกคิดว่าอาจารย์หลับแต่ดูอีกทีไม่ใช่  หมอใหญ่ต่างพากันช่วย บ้างควักไนโตรกลีเซอร์รีนใส่ปากท่าน  บ้างช่วยผายปอด ปั๊มหัวใจ  และนำส่งโรงพยาบาล แพทย์ได้ช่วยชีวิตอาจารย์อย่างเต็มที่แล้ว แต่ก็ไม่อาจยื้อชีวิตอาจารย์ไว้ได้

ท่านอาจารย์ประดิษฐ์ได้สร้างคุณค่าและประโยชน์ให้กับวิชาชีพจนลมหายใจสุดท้าย เป็นการสิ้นสุดเรื่องราวของหมอยาใหญ่แห่งวงการเภสัชกรรมไทย  อุดมการที่ท่านอาจารย์ได้ฝากยังคงอยู่ในจิตของศิษย์ทุกรุ่น และถ่ายทอดสู่ศิษย์รุ่นต่อๆไป  ผู้ซึ่งเป็นแบบอย่างของชาวเภสัชมหิดลทุกคน
หลังจากฟังเรื่องราวของท่านอาจารย์แล้ว  ผมเชื่อว่าคงไม่มีใครสงสัยว่าทำไมท่านอาจารย์ถึงเป็นที่เคารพสักการะของพวกเราขนาดนี้  ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้บอกเล่าเรื่องราวของพวกเราชาวเภสัชมหิดลให้ทุกๆคนได้รับฟัง  ขอบคุณแอดมินเพจ Pharmconnection ที่ได้ให้โอกาสนี้กับผม ขอบคุณรูมเมทผมเอง อะตอม นศภ.ธรรมเศรษฐ์  บุญประชา ที่ช่วยสนับสนุนข้อมูลเชิงลึกเรียกได้ว่า ละเอียดไม่ขาดตอนเหมือนมานั่งเขียนเองเลยทีเดียว  ขอบคุณหนังสือรำลึกอาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร มาถึงตรงนี้ก็คงต้องขอลาไปก่อน พบกันใหม่โอกาสหน้า สวัสดีครับ ^^

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทฤษฎีโครงสร้างการเล่าเรื่อง (Storytelling)

น้องตูน MSL

ตัวอย่าง Cover Letter ที่ถูกต้อง